มะเร็งต่อมลูกหมาก ศัตรูของบุรุษสูงวัย อาการเป็นอย่างไร รักษาอย่างไร

ต่อมลูกหมากโต วิธีการรักษา การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วย Laser

 

ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้จัก และหลายคนสับสนถึงหน้าที่ของต่อมลูกหมากว่ามีไว้เพื่ออะไร

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมของระบบสืบพันธุ์เพศชาย รูปร่างคล้ายลูกหมาก ห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นต่อจากคอกระเพาะปัสสาวะและอยู่หน้าทวารหนัก ซึ่งต่อมลูกหมากเป็นเสมือนโรงงานผลิตน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิของผู้ชาย ให้มีความแข็งแรงสามารถปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงได้ เมื่อมีการหลั่งเชื้ออสุจิ ต่อมลูกหมากก็จะขับเมือกเข้ามาในท่อปัสสาวะ เพราะฉะนั้นต่อมลูกหมากถือได้ว่าเป็นอวัยวะสำคัญอย่างมากต่อประสิทธิภาพใน การทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย

ธรรมชาติของผู้ชาย ถ้าอายุยืนแล้วต่อมลูกหมากมักจะรบกวน โดยจะมีขนาดโตขึ้นแล้วไปกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะตีบแคบลง จนมีผลทำให้ปัสสาวะลำบาก ต้องปัสสาวะบ่อยกะปริบกะปรอย เป็นที่กวนใจยิ่งนัก ซ้ำร้ายกว่านั้นเจ้าต่อมลูกหมากอาจรบกวนไปถึงขั้นเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก คราวนี้ล่ะเป็นอันตรายถึงชีวิตกันได้เลย เพราะเหตุนี้จึงจะกล่าวถึงรายละเอียดของมะเร็งต่อมลูกหมากให้รับทราบกัน
มะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อายุน้อยกว่านี้พบได้บ้างแต่ไม่มาก ยิ่งมีอายุมากอัตราการเป็นมะเร็งจะพบสูงขึ้น ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอายุ กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม อาหาร เชื้อชาติ เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหามะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น จึงทำให้สถิติการพบมะเร็งต่อมลูกหมาก มากเป็นอันดับ 2-3 ของมะเร็งในชายไทย

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นจะเริ่มปรากฏอาการ โดยก้อนเนื้อที่โตขึ้นจะเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบากมากขึ้น ปวดเวลาปัสสาวะ ไปจนถึงปัสสาวะเป็นเลือดได้ และเมื่อมะเร็งลุกลามต่อไปจะเข้าสู่อวัยวะใกล้เคียงด้วย อาจกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและส่วนใหญ่ไปที่กระดูก ทำให้มีอาการปวดกระดูกเอว หรือสะโพกได้ บางครั้งมะเร็งลุกลามเบียดเส้นประสาทที่ไขสันหลัง ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการขาอ่อนแรงได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวยาก และเวลาหลั่งเมื่อมีเพศสัมพันธ์จะปวด หรืออาจพบเลือดปนมากับน้ำเชื้ออสุจิได้

การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมลูกหมากมาจากหลายสาเหตุ แม้ว่ายังไม่มีอาการแต่ก็ควรตรวจหาความผิดปกติก่อนที่จะเกิดโรค การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก แพทย์จะใส่ถุงมือและใช้เจลหรือวาสลินเพื่อหล่อลื่นนิ้วมือ แล้วคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเพื่อดูว่ามีก้อนโตขึ้นผิดปกติหรือไม่

ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ ตรวจด้วยการอัลตร้าซาวด์ต่อมลูกหมากทางทวารหนัก การตรวจหาสาร PSA (Prostate specific Antigen) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ผลิตโดยต่อมลูกหมาก ถ้าค่ายิ่งสูงโอกาสเป็นมะเร็งก็จะสูงตามไปด้วย

หากการตรวจดังกล่าวพบสิ่งผิดปกติและสงสัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะพิจารณาให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจริง หรือไม่ โดยใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง

ระยะของโรค

การวางแผนการรักษาจะต้องรู้ว่า มะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ในระยะใด มีการแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ ซึ่งนิยมแบ่งเป็น 5 ระยะ ดังนี้

• ระยะ T1 ไม่สามารถตรวจคลำมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนักได้
• ระยะ T2 สามารถตรวจคลำก้อนมะเร็งได้ทางทวารหนัก แต่มะเร็งยังไม่ออกนอกเปลือกของต่อมลูกหมาก
• ระยะ T3 มะเร็งออกนอกเปลือกของต่อมลูกหมากและอาจลุกลามไปที่ถุงพักน้ำเชื้ออสุจิแล้ว แต่ยังไม่กระจายไปที่อวัยวะอื่น
• ระยะ T4 มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะใกล้เคียงกับต่อมลูกหมาก
• ระยะ M มะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะที่ห่างจากต่อมลูกหมาก เช่น กระดูก ปอด เป็นต้น

การรักษา

แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโดยคำนึงถึง ปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะของโรคว่าแพร่กระจายหรือยัง อายุและสุขภาพของผู้ป่วย ประโยชน์ที่ได้จากการรักษา ผลข้างเคียงของการรักษาและการป้องกัน การรักษานี้มีผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือไม่ มีผลต่อการปัสสาวะหรือไม่ หลังรักษามีปัญหาถ่ายเหลวหรือไม่ รวมถึงคุณภาพชีวิตหลังรักษา

วิธีการรักษา

• การผ่าตัด เป็นวิธีการที่นิยมใช้ในการรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีวิธีการผ่าตัดได้ 3 วิธี
1. การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง โดยตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองออก
2. การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้อง (Laparoscopy)
3. การตัดต่อมลูกหมากผ่านการส่องกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด
• การฝังแร่ ได้ผลดีเฉพาะในระยะ T1
• การให้รังสีรักษา
1. กรณีระยะ T1 – T2 มีโอกาสหายขาดได้ แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการฝังแร่
2. กรณีผ่าตัดต่อมลูกหมากออกไม่หมด หรือหลังจากผ่าตัดแล้วพบว่ามีค่า PSA สูงขึ้นอีก
3. กรณีที่มะเร็งกระจายไปกระดูกและมีอาการปวดกระดูก อาจใช้การฉายแสงเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้
• การรักษาด้วยฮอร์โมน เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากต้องใช้ฮอร์โมนในการเจริญเติบโต วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่มะเร็งได้แพร่กระจายแล้ว หรือเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้
1. การตัดลูกอัณฑะซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone hormone)
2. การใช้ยาเพื่อลดการสร้างฮอร์โมน testosterone
3. ยาที่ป้องกันการออกฤทธิ์ของ androgen
4. ยาที่ป้องกันต่อมหมวกไตไม่ให้สร้างฮอร์โมน androgen
• การให้เคมีบำบัด เป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งโดยการให้สารเคมี ใช้ในกรณีที่คิดว่าไม่สามารถผ่าตัดมะเร็งออกได้หมด
• ใช้สารที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

มะเร็งต่อมลูกหมากมีทั้งระยะที่รักษาหายขาดและไม่สามารถรักษา ได้ เพราะฉะนั้น ท่านที่มีอายุเกิน 50 ปี ท่านมีโอกาสเลือกได้ ด้วยการมาพบแพทย์ศัลยกรรมระบบปัสสาวะ เพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะต้น ในขณะที่ยังไม่มีอาการ ก็มีโอกาสสูงที่จะรักษาหายได้ โดยที่มีภาวะแทรกซ้อนน้อยและไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิต